Tuesday, October 5, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวสิงห์บุรี

วัดสว่างอารมณ์

ตั้งอยู่ที่บ้านบางมอญ ตำบลต้นโพธิ์ ในเขตเทศบาลอำเภอเมืองสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร

เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ในตำบลจักรสีห์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

วัดหน้าพระธาตุ

อยู่ในเขตบ้านพระนอนจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดหัวเมือง

วัดโพธิ์เก้าต้น (วัดไม้แดง)

ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลบางระจัน ตรงข้ามกับอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร เส้นทางหลวงหมายเลข 3032 เป็นสถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจันได้เคยใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านพม่า ที่ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2308

ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม

เป็นสถานที่เลี้ยงควายไทยเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้หมดสิ้นไปจากประเทศ โดยมอบให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ต่อไป รวมทั้งเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของควายไทยที่ได้ร่วมรบกับชาวบ้านบางระจัน ต่อสู้กับพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

Sunday, October 3, 2010

การเดินทางจังหวัดสิงห์บุรี

โดยรถยนต์:
จากกรุงเทพ ฯ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ

1. จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ผ่านอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง จนถึงตัวเมืองจังหวัดสิงห์บุรี

2. จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านอำเภอวังน้อย อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 311 ผ่านอำเภอท่าวุ้ง เข้าสู่จังหวัดสิงห์บุรี

3. จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 309 ผ่านจังหวัดอ่างทอง ไปจนถึงจังหวัดสิงห์บุรี

โดยรถประจำทาง:
มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-สิงห์บุรี ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com

การเดินทางภายใน สิงห์บุรี

ในตัวจังหวัดสิงห์บุรีมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถ สองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสาม ล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย
ระยะทางจากอำเภอเมืองสิงห์บุรีไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอบางระจัน 10 กิโลเมตร

อำเภอค่ายบางระจัน 16 กิโลเมตร

อำเภอพรหมบุรี 16 กิโลเมตร

อำเภออินทร์บุรี 17 กิโลเมตร

อำเภอท่าช้าง 18 กิโลเมตร

Friday, October 1, 2010

จังหวัดสิงห์บุรี

ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง
จังหวัดสิงห์บุรีตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตอนบน ริมฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดดเด่นและยิ่งใหญ่ด้วยเรื่องราววีรกรรมการสู้รบของชาวบ้านบางระจัน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศาสนา

จังหวัดสิงห์บุรีมีเนื้อที่ประมาณ 822.478 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 514,049 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 73 ของประเทศไทย ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนริมแม่น้ำจำนวนมากเป็นเวลานาน ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะแก่การทำกสิกรรม มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายอื่นๆ คือ ลำแม่ลา ลำการ้อง ลำเชียงราก และลำโพธิ์ชัย

สันนิษฐานว่าสิงห์บุรีสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 1650 โดยพระเจ้าไกรสรราช โอรสของพระเจ้าพรหม หรือพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก ผู้ครองเมืองชัยปราการ เมื่อครั้งเสด็จพาไพร่พลมาครองเมืองลพบุรีตามรับสั่งพระราชบิดา ได้ทรงล่องเรือมาตามแม่น้ำ แล้วแวะพักขึ้นบก ณ จุดที่เป็นที่ตั้งเมืองสิงห์บุรีเดิม คือ บริเวณริมฝั่งลำน้ำจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสิงห์บุรี ในปัจจุบัน

เมื่อถึงรัช สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในราวปี พ.ศ. 2437 ได้มีการจัดรูปแบบการปกครองเมืองระบอบมณฑลเทศาภิบาลใหม่ จึงได้มีการจัดตั้งมณฑลกรุงเก่า (มณฑลอยุธยา) ขึ้น ประกอบด้วยเมือง 8 เมือง คือ กรุงเก่าพระพุทธบาท พรหมบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และอินทร์บุรี ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2438 เมืองสิงห์บุรีถูกจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัด และมีการยุบเมืองพรหมบุรีและเมืองอินทร์บุรีลงเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมกับตั้งเมืองสิงห์บุรีขึ้นใหม่ที่ตำบลบางพุทรา ส่วนเมืองสิงห์บุรีเดิมยุบเป็นอำเภอสิงห์ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางระจัน จนถึงปัจจุบัน

เรื่องราว สำคัญในประวัติศาสตร์ที่ทำให้จังหวัดสิงห์บุรีเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น คือ วีกรรมของชาวบ้านบางระจัน เมื่อครั้งที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ จนต้องสูญเสียเอกราชไปในปี พ.ศ. 2310 ในครั้งนั้น ชาวบ้านบางระจันสามารถยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพพม่าที่เดินทัพผ่านมาถึงบ้าน บางระจันได้อย่างหาญกล้า เป็นเวลานานถึง 5 เดือน โดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยาเลย จึงนับเป็นวีรกรรมอันน่ายกย่องเชิดชูครั้งหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน ทางจังหวัดสิงห์บุรีได้ตั้งชื่อถนนต่างๆ ในตัวเมืองตามชื่อของวีรชนบ้านบางระจัน เช่น ถนนนายแท่น ถนนนายดอก ถนนนายอิน ถนนนายเมือง และถนนขุนสรรค์ เป็นต้น เพื่อเป็นเกียรติแก่เหล่าวีรชนชาวบ้านบางระจันในอดีต

ปัจจุบัน จังหวัดสิงห์บุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี อำเภอท่าช้าง และอำเภออินทร์บุรี